วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

“มาฆะบูชา" แห่ผ้าขึ้นธาตุนครศรีธรรมราช


            “แห่ผ้าขึ้นธาตุหมายถึงการแห่แหนผ้าพระบฎ หรือผ้าสีแดง เหลือง และขาวขึ้นสักการะพระบรมธาตุเจดีห์นครศรีธรรมราช ด้วยการนำไปห่มรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีห์ ซึ่งประเพณีประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ของเหล่าชาวพุทธมามกะนครศรีธรรมราช ได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นเวลายาวนานกว่า 800 ปีมาแล้ว ตั้งแต่นครศรีธรรมราชยังเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งผืนแผ่นดิบแถบคาบสมุทร มลายู
            ประเพณีที่สำคัญเช่นนี้มีตำนานจารึกไว้ในหนังสือบุดหลายแหล่งว่ายุคสมัย ที่พญาทั้งสามพี่น้องคือ พญาศรีธรรมาโศกราช พญาจันทรภาณุ และพญาพงหสุระ ปกครองเมืองนครศรีธรรมราช ก่อนวันพิธีสมโภชองค์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชตามโบราณราชประเพณีนั้น คลื่นทะเลได้ซัดเอาผ้าแดงผืนหนึ่ง มีลายเขียนเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติที่เรียกว่า พระบฎ ขึ้นที่หาดปากพนัง ชาวปากพนังได้นำขึ้นถวายพญาศรีธรรมาโศกราชเจ้าเมือง
            เมื่อได้รับพระบฎ พญาศรีธรรมาโศกราชโปรดให้สอบสวนได้ความว่า พระบฎดังกล่าวนั้นเดินทางมาจากเมืองอินทรปัตย์ในเขมร ชาวเมืองจะนำไปบูชาพระเขี้ยวแก้วในศรีลังกา หากแต่พายุวัดเรือจนเรือจมลม ชาวเมืองอินทรปัตย์เหลือรอดชีวิตอยู่เพียงเล็กน้อย และได้พร้อมใจกันถวายผ้าพระบฎนั้นแก่พญาศรีธรรมาโศกราช
           พญาศรีธรรมาโศกราชพิจารณาเห็นว่าพระบฎผืนนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะแม้จะลอยมาในน้ำและผ่านการซักล้างมาแล้ว ลวดลายในผืนผ้าก็มิได้ลบเลือนกลับชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเก่า จึงโปรดให้แห่แหนพระบฎนั้นขึ้นห่มเจดีย์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จนเกิดเป็นประเพณีประจำปีของเจ้าเมืองนครมาตลอดทุกยุคทุกสมัยจนมาถึง ปัจจุบัน
           ในปีนี้ ผศ.เชาวนวัศน์ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกับหลายฝ่ายในการจัดงานประเพณีมาฆะบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติประจำ ปี 2555 ขึ้น สำหรับประเพณีนี้ชาวนครศรีธรรมราชได้อนุรักษ์และปฏิบัติสืบเนื่องมาโดยไม่ ได้ขาดเป็นเวลากว่า 800 ปีมาแล้วซึ่งได้ดำเนินอยู่ด้วยพลังแห่งความเชื่อและศรัทธาในพุทธานุภาพ ซึ่งในปีนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชได้กำหนดให้มีการจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 1-7มีนาคม 2555 ณ สถานที่สำคัญรวม 3 แห่ง ในเขตตัวเมืองนครศรีธรรมราช
              ประกอบด้วย ที่บริเวณพุทธภูมิ สวนสาธารณะศรีธรรมโศกราช และวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ภายใต้การกำกับดูแลของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่ง ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ที่ถือเป็นประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนา และประเพณีสำคัญคู่เมืองนครที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด และหนึ่งเดียวของประเทศไทย
            “โดยการจัดกิจกรรมตลอดทั้งสัปดาห์ จะประกอบด้วย กิจกรรมการเชิญพระพุทธ การสวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะ ของนักเรียน 2,600 คน การเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ พิธีมหาพุทธาภิเษกเบิกเนตรองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม พิธีสวดพุทธาภิเษกผ้าพระบฎ พิธีกวนข้ามธุปายาส การแสดงนิทรรศการผ้าพระบฎนานาชาติ การแสดงของชุมชนเทศบาลนครนครศรีธรรมราช การฉายภาพยนตร์เรื่อง องคุลีมาล และการแสดง แสง สี เสียง Mini Light and Sound พุทธประวัติ รวม 6 คืน จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมแสวงบุญครั้งใหญ่ที่นครศรีธรรมราช โดยทั่วถึงกัน
      
       พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อว่า การทำบุญและการกราบไหว้บูชาที่ให้ได้กุศลจริงจะต้องปฏิบัติต่อพระพักตร์ของ พระพุทธเจ้า และใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าอยู่ ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ พระพุทธรูป การกราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านี้ เท่ากับเป็นการกราบไหว้บูชาต่อพระพักตร์พระพุทธองค์เช่นเดียวกัน
      
       การที่ชาวนครศรีธรรมราชนำผ้าไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ ด้วยการโอบรอบองค์พระ-บรมธาตุเจดีย์ ถือว่าพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเสมือนพระพุทธเจ้าเป็นการบูชาที่สนิทแนบกับพระ พุทธองค์
      
       นอกจากพิธรมาฆะบูชาแห่งผ้าขึ้นธาตุแล้ว ปีนี้ยังเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง พุทธชยันตี ครบ 2,600 ปี พุทธชยันตี โดยรากศัพท์คำว่าชยันตีมาจากคำว่า ชยอันหมายถึง ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มารและกิเลศทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง อันทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นในโลก พุทธชยันตี จึงมีความหมายว่า เป็นการตรัสรู้ และการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
          สำหรับพุทธ -ชยันตี 2,600 แห่งการตรัสรู้คำนวณจากการนำปีพุทธศักราชที่เริ่มนับจากการปรินิพพานบวกด้วย 45 อันเป็นจำนวนพรรษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดำเนินพุทธกิจ ภายหลังการตรัสรู้จวบจนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนั่นเอง

ข้อมูลจาก...ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป ใช้คำสุภาพ