เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2553 นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางไทศิกา ไพรสงบ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ สส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ นายประดิษฐ์ แสงจันทร์ ประธานสภา อบจ.ภูเก็ต และสมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต ร่วมเป็นเกียรติงานประเพณีพ้อต่อ ตลาดสด 1 ประจำปี 2553 โดยมีนางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ฝ่ายบริหาร สมาชิกสภาฯ ส่วนราชการเทศบาลนครภูเก็ต และพี่น้องประชาชนชาวภูเก็ตร่วมให้การต้อนรับ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และคณะได้ร่วมกันไหว้พระ ทำบุญ พร้อมเที่ยวชมกิจกรรมต่างๆ ภายใน ซึ่งบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคักมีประชาชนไทยเชื้อสายจีน และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานจำนวนมาก
สำหรับประเพณีพ้อต่อจัดขึ้นเพื่อบำเพ็ญกุศลบวงสรวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะเดินทางมาเยี่ยมลูกหลานในช่วงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ของจีน องค์พ้อต่อก๊ง ซึ่งเป็นหัวหน้าผีจะนำบริวารออกจากขุมนรก เพื่อมาเยี่ยมลูกหลานและเที่ยวบนโลกมนุษย์ ในโอกาสที่เป็นการต้อนรับวิญญาณบรรพบุรุษที่กลับมาเยี่ยมบ้าน ตลอดจนวิญญาณที่ไม่มีญาติ ดังนั้นในวันนี้จะห้ามลูกหลานออกจากบ้านหลังพลบค่ำแล้ว เพราะอาจจะเคราะห์ร้ายถูกวิญญาณที่เดินทางกลับมาทักทาย ทำให้เจ็บป่วยได้ และวิญญาณเหล่านี้จะถูกทิ้งไว้ 1 เดือนแล้วจะมารับกลับในวันที่ 29 หรือวันที่ 30 เดือน 7 ตามปฏิทินจีนอันเป็นวันสุดท้ายที่ส่งวิญญาณกลับ ผู้ใหญ่ก็จะห้ามลูกหลานออกจากบ้านเช่นเดียวกัน เพราะอาจจะเคราะห์ร้ายถูกกวาดต้อนวิญญาณกลับขุมนรกด้วย
นอกจากตามบ้านจัดพิธีไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณผีที่ไม่มีญาติแล้ว ตามศาลเจ้าต่างๆ หรือบริเวณบางสถานที่จะมีพิธีเซ่นไหว้วิญาณที่ไม่มีญาติด้วย เพราะเมื่อบรรดาวิญญาณผีไม่มีญาติเดินทางกลับบ้านด้วยความหิวโหย แต่ไม่พบใคร ด้วยญาติพี่น้องตายหมด ไม่มีผู้ใดทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้อาจทำร้ายผู้คนได้ จึงจัดพิธีกรรมใหญ่โตตั้งโต๊ะบูชาบรรดาผีไม่มีญาติเหล่านั้น ประเพณีพ้อต่อในจังหวัดภูเก็ต จะจัดขึ้นในเดือน 7 ตามปฏิทินจีน
ทั้งนี้ในประเพณีพ้อต่อ จะประกอบพิธีเซ่นไหว้ อันประกอบด้วยอาหารคาว หวาน ซึ่งที่ขาดไม่ได้คือขนมเต่า ที่ปั้นขึ้นขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างตามศรัทธา รวมอยู่ในเครื่องบวงสรวงนี้ด้วยสาเหตุที่นำขนมเต่านี้มาเซ่นไหว้เพราะเพื่อระลึกถึงเต่ายักษ์ตัวหนึ่ง ซึ่งว่ายน้ำฝ่าคลื่นลมที่โหมกระหน่ำอย่างบ้าคลั่ง เพื่อไปช่วยพระถังซัมจั๋งให้รอดพ้นจากพายุ ในระหว่างเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎก อีกนัยหนึ่งก็คือ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เซ่นไหว้ เนื่องจากชาวจีนเชื่อกันว่าเต่าเป็นสัตว์อายุยืนยาว แข็งแรง ส่วนสีแดง เป็นสีแห่งความเป็นมงคล ความยินดีปรีดา และความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นการเซ่นไหว้ด้วยขนมรูปเต่าสีแดง จึงเป็นการต่ออายุให้ตนเองและยังถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่อีกด้วย
ขนมเต่าสีแดงนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าว่า แต่เดิมทำกันขนาดไม่ใหญ่โตนักตามแบบแผนของการเซ่นไหว้ ต่อมามีผู้เห็นว่า ขนมเต่ามีลักษณะและความหมายอันเป็นมงคลยิ่ง ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จึงได้จัดทำให้มีขนาดโตขึ้น จนปัจจุบันขนมเต่ามีขนาดใหญ่โตมากขึ้นตามกำลังศรัทธาจนไม่อาจถือได้เพียงคนสองคน ต้องใช้หมู่คณะออกแรงช่วยกันหามจากบ้าน หรือโรงงานทำขนมมายังสถานที่ประกอบพิธีจนเกิดประเพณีแห่เต่าในวันพ้อต่อขึ้น
อย่างไรก็ตามการจัดงานประเพณีพ้อต่อ ในปี 2553 นี้นอกจากจะเต็มไปด้วยขนมเต่าซึ่งมีขนาดใหญ่ที่พี่น้องประชาชนนำมาเซ่นไหว้ แล้วยังเต็มไปด้วยเครื่องเซ่นไหว้ประเภทเนื้อสัตว์ ทั้งหมู เป็น ไก่ ฯลฯ รวมไปถึงประเภทผัก ผลไม้ เครื่องดื่ม และอาหารประเภทขนม ซึ่งถูกจัดวางไว้อย่างสวยงาม สามารถดึงดูดความสนใจของพี่น้องประชาชนชาวภูเก็ต และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงานได้เป็นอย่างดี
ข้อมูล..ปชส.ภูเก็ต