วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เทศกาลเข้าพรรษาที่ภูเก็ต


วันเข้าพรรษา หรือ การเข้าพรรษา เป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ ซึ่งพุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อละเว้นสิ่งไม่ดีเพื่อพยายามประกอบความดีในช่วงนี้อีกด้วย

สำหรับวันเข้าพรรษาที่จังหวัดภูเก็ต จะมีชาวไทยใหม่หรือชาวเลจาก ต.ราไวย์และจากเกาะสิเหร่ หอบลูกจูงหลานพากันไปตามวัดต่างๆ ทั่วเกาะภูเก็ต เพื่อขอรับเงินให้ทานจากพุทธศาสนิกชน ที่ได้มาร่วมกันทำบุญตามวัดต่างๆ และหลังจากที่พระได้ฉันอาหารเสร็จแล้วพวกเขาก็จะร่วมวงกันกินอาหารจนอิ่มหนำหลังจากนั้นก็จะเก็บรวบรวมข้าวปลาอาหาร ผลไม้และขนมต่างๆ ส่วนที่เหลือนำกลับไปฝากคนที่อยู่ทางบ้านด้วย โดยไม่มีการดูถูกรังเกียจเหยียดหยามจากพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมกันทำบุญ ซ้ำยังช่วยเหลือจัดให้ด้วยความเต็มอก เต็มใจอีกต่างหาก นับเป็นประเพณี ที่ไม่เหมือนจังหวัดใดๆในประเทศไทย

ชมคลิปวีดีโอ เมื่อวันเข้าพรรษา กรกฎาคม 2553 ที่วัดกะทู้ จังหวัดภูเก็ต


--------------------------------------------------------
เกี่ยวกับวันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา

วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือได้ว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย

สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมา ยังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักรทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย

สำหรับในปี พ.ศ. 2553 นี้ วันเข้าพรรษาจะตรงกับ วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม ตามปฏิทิน สุริยคติ

ดูรายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าพรรษาเพิ่มเติม ได้ที่วิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป ใช้คำสุภาพ