วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประเพณี สารทเดือนสิบ เมืองคอน




ประเพณี สารทเดือนสิบ
-------------------------


หมรับ
------------------------------
.

ยก หมรับ
------------------------------


แห่ หมรับ

---------------------------------------------------------------------------------

ประวัติความเป็นมา
---------------------


***ประเพณี สารทเดือนสิบ เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ ของประเทศไทย โดยเฉพาะ ชาว นครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อ ซึ่งมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเข้ามาในภายหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรก ที่ตนต้องจองจำอยู่ เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10


***ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรม ของประเพณี สารทเดือนสิบ จะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปี แต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะนิยมทำบุญกันมากคือ วันแรม 13-15 ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบ โดยในส่วนใหญ่แล้ว จะตรงกับเดือนกันยายน


***“งานเทศกาลเดือนสิบ” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2466 ที่สนามหน้าเมือง นครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อหาเงินสร้างสโมสรข้าราชการซึ่งชำรุดมากแล้ว โดยในช่วงนั้น พระภัทรนาวิก จำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) ซึ่งเป็น นายกศรีธรรมราชสโมสร และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ร่วมกันจัดงานประจำปีขึ้น พร้อมทั้งมีการออกร้าน และมหรสพต่างๆ โดยมีระยะเวลาในการจัดงาน 3 วัน 3 คืน จนกระทั่ง ถึงปี พ.ศ. 2535 ทางจังหวัดได้ย้ายสถานที่จัดงาน จากสนามหน้าเมือง ไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) ซึ่งมีบริเวณกว้าง และได้มีการจัดตกแต่งสถานที่ ไว้อย่างสวยงาม


***การ จัดเทศการ งานเดือนสิบ ถือเป็นความพยายามของมนุษย์ ที่มุ่งทดแทน พระคุณบรรพบุรุษ แม้ว่าจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไทยทุกคน ควรต้องยึดถือปฏิบัติ รวมทั้งปลูกฝังให้อนุชนรุ่นหลัง ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อๆไป อย่างน้อย หากมนุษย์ระลึกถึงเรื่องเปรต ก็จะสำนึกถึง บาปบุญคุณโทษ รวมทั้งการแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวที ที่เป็นหัวใจสำคัญ ในการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างสงบสุข ตลอดไป


***ความ เชื่อของพุทธศาสนิกชน ชาว นครศรีธรรมราช เชื่อว่าบรรพบุรุษ อันได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และ ญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความดีไว้ เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไปเกิดในสรวงสวรรค์ แต่หากทำความชั่ว จะตกนรก กลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญ ที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้ในแต่ละปี มายังชีพ ดังนั้น ในวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลาย ที่เรียกว่า เปรต จึงถูกปล่อยตัว กลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญ จากลูกหลาน ญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกดังเดิม ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ในวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ โอกาสนี้เองลูกหลาน และผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที


***วัน สารท เป็นวันที่ถือเป็นคติ และเชื่อสืบกันมาว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาส ได้กลับมารับส่วนบุญ จากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ไปให้ญาติในวันนี้ และเชื่อว่า หากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติแล้ว ญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ และมีโอกาสหมดหนี้กรรม และจะได้ไปเกิดหรือมีความสุข


***อีก ประการหนึ่ง สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือนสิบนี้ ได้ปักดำข้าวกล้าลงในนาหมดแล้ว กำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญ เพื่อเลี้ยงตอบแทน และขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพระแม่โพสพ หรือ ผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี และออกรวงจนสุกให้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก


***ความสำคัญของประเพณี สารทเดือนสิบ ของชาว นครศรีธรรมราช


***การทำบุญ สารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวเมือง นครศรีธรรมราช ได้ถือปฏิบัติด้วยศรัทธาแต่ดึกดำบรรพ์ โดยถือเป็นคติว่า ปลายเดือนสิบของแต่ละปี เป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล เป็นช่วงที่ชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่ ยังชีพด้วยการเกษตร ชื่นชมยินดีในพืชของตน ประกอบด้วยเชื่อกันว่า ในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต” จะถูกปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลาน ญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์ จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ไปไห้ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่น้อง ลูกหลาน ที่ล่วงลับไป โดยการจัดอาหารคาวหวาน วางไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า “ตั้งเปรต” ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้พัฒนามาเป็น “การชิงเปรต” ในเวลาต่อมา


***ความมุ่งหมายของประเพณี สารทเดือนสิบ***
------------------------------------------------------

***ประเพณี สารทเดือนสิบ มีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ กับ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้อง ผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่ด้วยเหตุที่วิถีชีวิตของชาว นครศรีธรรมราช เป็นวิถีชีวิตแห่งพระพุทธศาสนา ในสังคมเกษตรกรรม จึงมีความมุ่งหมายอื่นร่วมอยู่ด้วย


---1) เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้กับ พ่อ แม่ ปู่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง หรือบุคคลอื่นผู้ล่วงลับไปแล้ว


---2) เป็นการทำบุญ ด้วยการเอาผลผลิตทางการเกษตร แปรรูปเป็นอาหารถวายพระสงฆ์ รวมถึง การจัดหฺมรับ ถวายพระ ในลักษณะของ “สลากภัต” นอกจากนี้ ยังถวายพระ ในรูปของผลผลิตที่ยังไม่แปรสภาพ เพื่อเป็นเสบียงแก่พระสงฆ์ ในช่วงเข้าพรรษาในฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตนเอง ครอบครัว และเพื่อผลในการประกอบอาชีต่อไป


---3) เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสนุกสนานรื่นเริงประจำปี เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกประเพณี ของชาวนครฯ แต่ประเพณีนี้มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ ปี เรียกว่า “งานเดือนสิบ” ซึ่งงานเดือนสิบนี้ ได้จัดควบคู่กับประเพณีสารทเดือนสิบ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2466 จนถึงปัจจุบัน


กิจกรรม

***การทำบุญวัน สารทเดือนสิบ หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า วันชิงเปรตนั้น ในเดือนสิบ )กันยายน) มีการทำบุญที่วัด 2 ครั้ง


***ครั้งแรก วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า วันรับเปรต


***ครั้งที่สอง วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า วันส่งเปรต


***การทำบุญทั้งสองครั้ง เป็นการทำบุญที่แสดงถึง ความกตัญญูต่อบุพการีผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยอุทิศส่วนกุศล ไปให้วิญญาณของบรรพบุรุษที่ตกอยู่ในเปรตภูมิ เป็นคติของศาสนาพราหมณ์ ที่ผสมในประเพณีของพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชน นิยมไปทำบุญ ณ วัดที่เป็นภูมิลำเนาของตน เพื่อร่วมพิธีตั้งเปรต และชิงเปรตอาจสับเปลี่ยนกันไปทำบุญ ณ ภูมิลำเนาของฝ่ายบิดาครั้งหนึ่ง ฝ่ายมารดาครั้งหนึ่ง จึงทำให้ผู้ที่ไปประกอบ อาชีพจากถิ่นห่างไกลจากบ้านเกิด ได้มีโอกาสได้กลับมาพบปะสังสรรค์ และรู้จักวงศาคณาญาติเพิ่มขึ้น

ประเพณีปฏิบัต

***ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะทำขนมที่เรียกว่า กระยาสารท และขนมอื่นๆ แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ในวันงานชาวบ้านจัดแจงนำข้าวปลาอาหารและข้าวกระยาสารทไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้าน ทายก ทายิกาไปถือศีล เข้าวัด ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล นำข้าวกระยาสารท หรือขนมอื่น ไปฝากซึ่งกันและกัน ยังบ้านใกล้เรือนเคียง หรือหมู่ญาติมิตรที่อยู่บ้านไกล หรือถามข่าวคราวเยี่ยมเยือนกัน บางท้องถิ่นทำขนม สำหรับบูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้ว ก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ


ระยะเวลา

***ระยะเวลาของการประกอบพิธีประเพณีสารทเดือนสิบ มีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ แต่วันที่ชาวนครนิยมทำบุญคือ วันแรม 13-15 ค่ำ


พิธีกรรม


การปฏิบัติพิธีกรรมการทำบุญสารทเดือนสิบ มี 3 ขั้นตอน คือ


---1) การจัดหมฺรับและยกหมฺรับ


---2) การฉลองหมฺรับและการบังสุกุล


---3) การตั้งเปรตและการชิงเปรต


การจัดหมฺรับและยกหมฺรับ


***การจัดเตรียมสิ่งของที่ใช้จัดหมฺรับ เริ่มขึ้นในวันแรม 13 ค่ำ วันนี้เรียกกันว่า "วันจ่าย" ตลาดต่างๆ จึงคึกคักและคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนชาวบ้าน จะซื้ออาหารแห้ง พืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ข้าวของเครื่องใช้ ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมไว้สำหรับใส่หมฺรับ และ สำหรับนำไปมอบให้ผู้ใหญ่ ที่ตนเคารพนับถือ


การจัดหมฺรับ


***การจัดหมฺรับ มักจะจัดเฉพาะครอบครัว หรือจัดรวมกันในหมู่ญาติ และจัดเป็นกลุ่ม ภาชนะที่ใช้จัดหมฺรับ ใช้กระบุง หรือ เข่งสานด้วยด้วยตอกไม้ไผ่ ขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของหมฺรับ ปัจจุบันใช้ภาชนะที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ การจัดหมฺรับ คือการบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบ ฯลฯ ลงภายในภาชนะที่เตรียมไว้


ลักษณะของการจัด


---1) ชั้นล่างสุด จัดบรรจุสิ่งของประเภทอาหารแห้ง ลงไว้ที่ก้นภาชนะ ได้แก่ ข้าวสาร แล้วใส่พริก เกลือ หอม กระเทียม กะปิ น้ำปลา น้ำตาล มะขามเปียก รวมทั้งบรรดาปลาเค็ม เนื้อเค็ม หมูเค็ม กุ้งแห้ง เครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น


---2) ขั้นที่สอง จัดบรรจุอาหารประเภทพืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ใส่ขึ้นมาจากชั้นแรก ได้แก่ มะพร้าว ขี้พร้า หัวมันทุกชนิด กล้วยแก่ ข้าวโพด อ้อย ตะไคร้ ลูกเนียง สะตอ รวมทั้งพืชผักอื่นที่มีในเวลานั้น


---3) ขั้นที่สาม จัดบรรจุสิ่งของประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันมะพร้าวน้ำมันก๊าด ไต้ ไม้ขีดไฟ หม้อ กระทะ ถ้วย ชาม เข็ม ด้าย หมาก พลู กานพลู การบูน พิมเสน สีเสียด ปูน ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูป เทียน


---4) ขั้นบนสุด ใช้บรรจุและประดับประดาด้วยขนมอันเป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ เป็นสิ่งสำคัญของหมฺรับ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง (ขนมไข่ปลา) ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมที่บรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับได้นำไปใช้ประโยชน์


ขนมเดือนสิบ


---ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทน เรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เหตุเพราะขนมพองนั้น แผ่ดังแพ มีน้ำหนักเบา ย่อมลอยน้ำ และขี่ข้ามได้


---ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทน แพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เหตุเพราะขนมลา มีรูปทรงดังผ้าถักทอ พับ แผ่ เป็นผืนได้


---ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทน ลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่น ต้อนรับสงกรานต์ เหตุเพราะขนมบ้า มีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน


---ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทน เงิน เบี้ย สำหรับใชัสอย เหตุเพราะรูปทรงของขนม คล้ายเบี้ยหอย


---ขนมกง (ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทน เครื่องประดับ เหตุเพราะรูปทรงมีลักษณะ คล้ายกำไล แหวน


เหตุผลของการจัดหฺมฺรับ


***ปลายเดือนสิบอัน เป็นระยะเริ่มฤดูฝน “การอิงศาสภิกษุ” ด้วยพืชผล ที่ยังไม่ได้ปรุงเป็นอาหารคาวหวาน สำหรับขบฉันในทันทีที่ขับประเคนนั้น ชาวเมืองมุ่งหมาย จะให้เสบียงเลี้ยงสงฆ์ในฤดูกาล อันยากต่อการบิณฑบาต และเพื่อมิให้ฉันทาคติบังเกิดแก่ทั้งสองฝ่าย คือสงฆ์ และศรัทธาถวายพืชผักสดแก่สงฆ์ จึงใช้วิธี “สลากภัต” คือจัดใส่ภาชนะตกแต่ง เรียกว่า “สำรับ” หรือ “หฺมฺรับ”


หฺมฺรับ” หัวใจของการทำบุญเดือนสิบ


***การจัดหฺมฺรับ เป็นการเตรียมเสบียงอาหารบรรจุในภาชนะ เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ ในช่วงเทศกาลเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศล ให้แก่บรรพชน หรือญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้นำกลับไปใช้สอยในนรกภูมิ หลังจากถูกปล่อยตัวมาอยู่ในเมืองมนุษย์ช่วงเวลาหนึ่ง และต้องถึงเวลา กลับไปใช้กรรมตามเดิม ฉะนั้น บรรดาลูกหลาน ก็จะต้องจัดเตรียม สิ่งของเครื่องใช้ อาหาร ฯลฯ มิให้ขาดตกบกพร่อง แล้วบรรจงจัดลงภาชนะ ตกแต่งประดับประดา ด้วยดอกไม้ให้สวยงาม เพื่อทำในสิ่งที่ดีที่สุด ให้บรรพบุรุษ ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความผูกพัน และความกตัญญู


การปฎิบัติตามประเพณีสารทเดือนสิบ


***ช่องของการทำบุญเดือนสิบ จะมีวันที่ถูกกำหนดเพื่อดำเนินการเรื่อง “หฺมฺรับ” อยู่หลายวัน และจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน กล่าวคือ วันหฺมฺรับเล็ก ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ เชื่อกันว่าเป็นวันแรกที่วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รับอนุญาต ให้กลับมาเยี่ยมลูกหลาน ซึ่งลูกหลานจะจัดสำรับ อาหารคาวหวาน ไปทำบุญที่วัด เป็นการต้อนรับ บางท้องถิ่นเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย”


***วันจ่าย ตรงกับวันแรม 13 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่คนนคร ต้องตระเตรียมข้าวของสำหรับจัดหฺมฺรับ โดยไปตลาดเพื่อจัดจ่ายข้าวของเป็นการพิเศษกว่าวันอื่นๆ


***วันยกหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด อาจจะรวมกลุ่มคน บ้านไกล้เรือนเคียง ไปเป็นกลุ่มตามธรรมชาติ หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้


***วันหฺมฺรับใหญ่ หรือวันหลองหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่นำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่ ทำพิธีบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน และตั้งเปรตเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้ ขณะเดียวกัน ก็ทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมา


การยกหมฺรับ


***วันแรม 14 ค่ำ ชาวบ้านจะจำหมฺรับที่จัดเตรียมไว้ ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด โดยเลือกวัดที่อยู่ใกล้บ้าน หรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยม วันนี้เรียกว่า "วันยกหมฺรับ" การยกหมฺรับไปวัดเป็นขบวนแห่ หรือไม่มีขบวนแห่ก็ได้ โดยนำหมฺรับและภัตตาหารไปถวายพระด้วย


การฉลองหมฺรับและการบังสุกุล


***วันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสารทเรียกว่า "วันหลองหมฺรับ" มีการทำบุญเลี้ยงพระและบังสุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปยังเมืองนรก นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่าหากไม่ได้กระทำพิธีกรรมในวันนี้ บรรพบุรุษพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วจะไม่ได้รับส่วนกุศล ทำให้เกิดทุขเวทนาด้วยความอดอยาก ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะกลายเป็นคนอกตัญญูไป


การตั้งเปรตและการชิงเปรต


***เสร็จจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแล้วกก็นิยมนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ ตามบริเวณวัด โคนไม้ใหญ่ หรือกำแพงวัด เรียกว่า "ตั้งเปรต" เป็นการแผ่ส่วนกุศล ให้เป็นสาธารณะทาน แก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญได้ บางวัดนิยมสร้างร้านขึ้น เพื่อสะดวกแก่ตั้งเปรต เรียกว่า "หลาเปรต" (ศาลาเปรต) เมื่องตั้งขนม ผลไม้ และและเงินทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะนำสายสิญจน์ที่ได้บังสุกุลแล้ว มาผูกเพื่อแผ่ส่วนกุศลด้วย เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ ก็จะเก็บสายสิญจน์ การชิงเปรตจะเริ่มหลังจากตั้งเปรตเสร็จแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรียกว่า "ชิงเปรต" ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนมกันอย่างคึกคัก เพราะความเชื่อว่า ของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้ไปกินก็จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว วัดบางแห่งสร้างหลาเปรตไว้สูง โดยมีเสาเพียงเสาเดียว เสานี้เกลาจนลื่นและชะโลมด้วยน้ำมัน เมื่อถึงเวลาชิงเปรต เด็กๆ แย่งกันปีนขึ้นไป หลายคนตกลงมาเพราะเสาลื่น และอาจถูกคนอื่นดึงขาพลัดตกลงมา กว่าจะมีผู้ชนะการปีนไปถึงหลาเปรต ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงมีทั้งความสนุกสนาน และความและความตื่นเต้น


***ในการทำบุญสารทเดือนสิบ ลูกหลานจะทำขนม หรืออาหารนำไปวางในที่ต่างๆของวัด ตั้งที่ศาลาซึ่งเป็นศาลาสำหรับเปรตทั่วไป และริมกำแพงวัด หรือใต้ต้นไม้ สำหรับเปรตที่ปราศจากญาติ หรือญาติไม่ได้ทำบุญอุทิศให้ รือมีกรรมไม่สามารถเข้าในวัดได้ พิธีกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลทำได้โดยการแผ่ส่วนกุศล และกรวดน้ำอุทิศให้ เมื่อเสร็จลูกหลานจะมีการแย่งชิงขนม และอาหารกันที่เรียกว่า “ชิงเปรต”


***การชิงเปรต เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้น หลังจากการอุทิศส่วนกุศลแก่เปรต โดยมีพระสงฆ์สวดบังสุกุล พอพระชักสายสิญจน์ที่พาดโยงไปยังอาหารที่ตั้งเปรต ลูกหลานก็จะเข้าไปแย่งเอามากิน ซึ่งของที่แย่งมาได้ถือเป็นของเดนชาน การได้กินเดนชานจากวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นความเชื่อที่ถือกันว่าเป็นการแสดงความรัก เป็นสิริมงคล และเป็นกุศลสำหรับลูกหลาน.




ข้อมูลจาก  "ลูกเนียง พลัดถิ่น"

หนังสือพิมพ์ "หลังชน เมืองคอน" ออนไลน์

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

2 ความคิดเห็น:

ความคิดเห็นทั่วไป ใช้คำสุภาพ